“โง่” วัดจากอะไร
อย่าเพิ่งเข้าใจผิด บทความนี้ไม่ได้จะด่าว่าคุณโง่ หรือใครโง่ แต่มันคือหลักเกณฑ์ที่ผมตั้งขึ้นมาเอง เพื่อใช้แยกแยะประเภทของผู้คนที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เราจะได้คุยกับพวกเขาได้ง่ายขึ้น
ปัญหาอยู่ตรงไหน?
ก่อนอื่นเราก็ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า “คนโง่” คือคนแบบไหน เพราะหลายคนมักจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า…
“ในโลกนี้ไม่มีคนโง่ มีแต่คนที่รู้กับไม่รู้เท่านั้น”
แต่ในความเห็นของผม คำกล่าวข้างต้นนี้เป็นคำกล่าวที่ผิด และนำไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ เพราะต่อให้เรารู้ว่า ในโลกนี้ไม่มีคนโง่ แล้วยังไงต่อ? มีแค่คนที่รู้กับไม่รู้ แล้วยังไงต่อ? เพราะต่อให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่สุดในโลก เขาก็ยังไม่ได้รู้ทุกเรื่องในโลกนี้ ดังนั้นคำพูดนี้จึงนำไปใช้ประโยชน์ใดๆ ไม่ได้เลย และในความเป็นจริง ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นด้วย
นิยามของคนโง่ที่ถูกต้องที่สุดสำหรับผมคือ…
“คนโง่” คือ คนที่มีความสามารถในการทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ช้าและยากกว่าคนทั่วไป ไม่ใช่ “คนไม่รู้”
เพราะหาก “คนไม่รู้” คือ “คนโง่” ก็จะหมายความว่าทุกคนบนโลกนี้ล้วนแต่เป็นคนโง่กันทั้งหมด ซึ่งมันไม่ตรงกับความเป็นจริงเลย
และจากนิยามนี้ เราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ตัวอย่างเช่น…
ถ้าหากเราเป็นเซลล์ขายรถยนต์ แล้วเราต้องโฆษณาขายรถให้กับนาย A และนาย B ซึ่งนาย A เป็นคนทั่วไป แต่นาย B เป็นคนโง่ ถ้าเราอธิบายว่า… “รถคันนี้สามารถเร่งความเร็วจาก 0–100 ได้ภายใน 3 วินาที” นาย A อาจจะรู้สึกทึ่งและว้าวจนซื้อรถคันนี้ไป แต่นาย B คงจะทำหน้าเฉยๆ แล้วรู้สึกงง ทำให้เราขายรถให้นาย B ไม่ได้ เพราะนาย B ไม่เข้าใจว่า… 0–100 คืออะไร และอาจคิดว่าถ้าเขาขับรถคันนี้แล้วเขาจะได้เงินเพิ่มขึ้นมา 100 บาทใน 3 วินาทีงั้นเหรอ ประหลาดจัง
ถ้าอย่างนั้น เราต้องทำอย่างไรถึงจะขายรถให้นาย B ได้ละ?
วิธีการก็ง่ายๆ ครับ ลองย้อนกลับไปดูนิยามที่ผมกล่าวเอาไว้ด้านบนสิ เราก็จะรู้ว่า “อ้อ… ที่แท้นาย B ก็แค่เข้าใจได้ยากกว่าคนอื่นเท่านั้น” แล้ววิธีการแก้ปัญหานี้ก็ง่ายๆ นั่นก็คือ เราแค่ต้องอธิบายให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น เราต้องโฆษณากับนาย B ว่า…
“รถคันนี้สามารถเร่งความเร็วได้จาก 0–100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ ภายใน 3 วินาทีเท่านั้น เหยียบคันเร่งแต่ละทีนี่หลังติดเบาะเลยนะครับ สมมุติว่าถ้าไปจอดติดไฟแดง พอไฟเขียวมาปุ๊ป รถคันอื่นยังเข้าเกียร์ไม่เสร็จเลย พี่ก็ขับไปถึงไฟแดงถัดไปแล้ว”
พอมีรายละเอียดมากขึ้น นาย B ก็จะเริ่มมองเห็นภาพว่าการเร่งความเร็ว 0–100 นี่มันเป็นยังไง และอาจทำให้เขาถูกใจจนซื้อรถคันนี้ไปได้
ในทำนองเดียวกัน หากเราต้องคุยกับคนโง่ ในเรื่องอื่นๆ เราก็สามารถใช้หลักการนี้ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราเป็นอาจารย์ แน่นอนว่าอาจารย์ก็ต้องสอนหนังสือ และในห้องเรียน ก็ย่อมมีทั้งนักศึกษาที่โง่และฉลาด ดังนั้นถึงแม้ว่านักศึกษาจะฟังคำอธิบายคำเดียวกัน แต่ก็จะมีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ เมื่อเรารู้ว่าคนโง่คือคนที่เข้าใจได้ช้าและยากกว่าคนอื่น เราก็จะได้อธิบายให้ละเอียดมากขึ้น และพูดให้ช้าลง เพื่อรอให้พวกเขาทำความเข้าใจสิ่งที่เราพูดได้ พวกเขาจึงจะสามารถตามเนื้อหาที่เราสอนได้ทัน
ถ้าเราไม่เข้าใจว่าคนโง่คืออะไร ต่อให้เราพยายามอธิบายละเอียดแค่ไหน เขาก็ไม่เข้าใจอยู่ดี เพราะเขาทำความเข้าใจตามคำพูดของเราไม่ทัน
เห็นไหมครับว่า การแบ่งแยกคนโง่คนฉลาดมีประโยชน์ยังไง แล้วถ้าเราใช้นิยามแบบที่ผมกล่าวข้างต้นในการแบ่งแยกคนโง่ เราก็สามารถใช้นิยามนั้นให้ไปปรับใช้ได้เกิดประโยชน์ต่อไปได้
ดังนั้นปัญหาต่อไปก็คือ แล้วเราจะแบ่งแยกยังไงว่าใครโง่ ใครฉลาด
วิธีการคัดแยกคนโง่
ผมใช้หลักเกณฑ์ในการคัดแยกอยู่ 2 ข้อ คือ…
- ความสามารถในการทำความเข้าใจ
การทำความเข้าใจอาจเป็นทั้งเรื่องง่ายและเรื่องยาก เพราะในชีวิตนี้ก็มีหลายเรื่องที่เราเข้าใจและไม่เข้าใจ แต่คนส่วนมากกลับตอบไม่ได้ว่าตัวเองทำไมไม่เข้าใจเรื่องราวเหล่านั้น จริงๆ แล้ว การที่คนๆ หนึ่งจะเข้าใจเรื่องราวใดๆ ได้จะต้องมีความสามารถพื้นฐานอยู่ 2 ข้อคือ
1.1 การจับใจความ คือ เมื่อฟังหรืออ่านแล้วต้องรู้ว่าอะไรคือใจความสำคัญ
1.2 การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ คือ เมื่อจับในความสำคัญได้แล้ว ต้องสามารถเชื่อมโยงใจความสำคัญเหล่านั้น เข้าด้วยกันให้เป็นลำดับอย่างถูกต้องได้
เมื่อไรก็ตามที่เราสามารถทำทั้ง 2 ข้อนี้ได้สำเร็จ เราก็จะเข้าใจเรื่องที่เราอ่านหรือฟังได้เอง - ความสามารถในการคิดคำนวณ
ในปัจจุบันนี้ไม่มีงานไหนเลยที่ไม่ต้องใช้การคำนวณ ยิ่งเงินเดือนเยอะ ตำแหน่งสูง ก็ยิ่งต้องใช้การคำนวณที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น และผมคิดว่าสมองของมนุษย์มีรูปแบบการคิดคำนวณ ที่แตกต่างออกไปจากการทำความเข้าใจเรื่องราว กล่าวคือ หากต้องการเข้าใจวิธีการคำนวณ ไม่สามารถอาศัยแค่ การจับใจความ และการเชื่อมโยงได้ แต่ต้องมีการฝึกฝนเพิ่มเข้ามาด้วย ซึ่งการฝึกฝนนี่เองที่จะทำให้สมองทำความเข้าใจวิธีการคำนวณได้
ถ้าใครก็ตามไม่มีความสามารถ 2 ข้อนี้ ผมจะจัดอยู่ในประเภทคนโง่ หมายความว่า คนเหล่านี้ยังไม่มีพื้นฐานเพียงพอที่จะทำความเข้าใจเรื่องใหม่ๆ ได้ หากเราต้องการพูดคุยงานกับเขา หรือสอนเรื่องใหม่ๆ ให้กับเขา เราจะต้องมาปูพื้นความสามารถ 2 อย่างนี้ให้เขาก่อน
ในทางตรงข้าม คนที่มีความสามารถ 2 ข้อนี้แล้ว ก็จะสามารถทำความเข้าใจเรื่องราวใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเอง
การนำไปใช้งาน
- ถ้าเรารู้ว่าเขาเป็นคนโง่ เราก็พูดให้ช้า ชัดเจน และละเอียด
- ถ้าหากเรารู้ว่าเขาโง่ แล้วไม่ได้มีความจำเป็นต้องคุยด้วยขนาดนั้น ก็อย่าไปคุยด้วยเลย เพราะเขาไม่มีทางเข้าใจสิ่งที่เราพูดหรอก หรือกว่าจะเข้าใจได้ เราก็ต้องเสียเวลาอธิบายจนเจ็บคอ
- เราต้องคิดว่าคนโง่ มีรูปแบบการทำความเข้าในเรื่องราว ต่างออกไปจากคนปกติ ดังนั้นบางที หากเราต้องการคุยกับพวกเขาให้รู้เรื่อง เราก็ต้องฟังเขาพูดให้มากๆ เราจะได้จับหลักการได้ว่าระบบความคิดของเขาเป็นยังไง และปรับเปลี่ยนรูปแบบการสนทนาให้อยู่ในฟอร์แมตที่เขาเข้าใจได้
- ใช้เป็นแนวทางในการอธิบาย การสอน หรือการพูดคุย เช่น บางคนอาจต้องการมองเห็นภาพรวมก่อน แล้วค่อยศึกษาในเรื่องแยกย่อยลงไป แต่บางคนก็ต้องศึกษาเรื่องแยกย่อยก่อน ถึงจะเข้าใจภาพรวมได้
ปล. ถ้าแค่ต้องการพูดคุยเรื่องไร้สาระ ไม่จำเป็นต้องใช้หลักการใดๆ ก็ได้ครับ เพราะต่อให้ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง มันก็ไม่ได้มีสาระอะไรอยู่ดี