หยุดเขียนถึงตัวเอง

Kritthanit Malathong
1 min readDec 6, 2020

--

คลิกที่นี่เพื่ออ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษ

ร้านอาหารริมแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี

ต้องออกตัวก่อนเลยครับว่า บทความนี้มีต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเขียนโดย Takarudana Mapendembe ผมเห็นบทความนี้เป็นบทความนี่น่าสนใจมาก และคงจะต้องได้กลับมาอ่านหลายๆ รอบแน่นอนในระหว่างการเขียนบทความ แต่เนื่องจากผมไม่เก่งภาษาอังกฤษเท่าไร จึงถือวิสาสะเอามาเขียนเป็นบทความภาษาไทย เอาไว้ให้ตัวเองอ่าน และเผื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษแบบผมด้วย

เอาละครับ เข้าเรื่องการเลยดีกว่า คร่าวๆ ก็คือ…

บทความนี้เป็นบทความที่อธิบายวิธีเขียนบทความ ว่าเขียนยังไงให้คนสนใจอ่าน และบทความแบบไหนที่เขียนแล้วมันน่าเบื่อ ถ้าคุณก็อยากรู้เหมือนกันกับผม ก็ตามมาอ่านกันเลยครับ

เริ่มแรกที่ฉันเขียนบทความ ไม่มีใครอ่านงานเขียนของฉันเลย บางคนก็แค่คลิกเข้ามาแล้วก็จากไปก่อนที่พวกเขาจะได้เริ่มอ่านหัวข้อเรื่องด้วยซ้ำ นับประสาอะไรกับประโยคแรก ผมไม่ได้หวังเลยว่าจะได้รับ “ตบมือ” หรือ “ถูกใจ” ในบทความของผม ไม่ว่ายอดคลิกเข้ามาในบทความจะเป็นเท่าไร แต่ยอดคนอ่านจริงๆ ก็คงเป็นศูนย์ หากในบล็อคมีโฟลเดอร์สแปมเหมือนในอีเมลล์ ผมคิดว่าในโฟลเดอร์นั้นคงจะมีแต่บทความของผมแน่นอน

สำหรับคนที่เพิ่งจะเริ่มเขียนบล็อกของตัวเอง หรือบทความผมว่าก็น่าจะเจอปัญหานี้กันทุกคนแหละ

แต่ผมไม่ได้หมายความว่าผมสแปมผู้อ่านด้วยบทความขยะนะ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าบทความที่ผมเขียนเป็นบทความขยะด้วย ทุกบทความของผมเขียนด้วยหลักไวยากรณ์ที่ดีที่สุด รวมถึงจัดประโยคและย่อหน้าอย่างสวยงาม แต่ปัญหาหลักที่คนไม่อ่านกันคือ “ผมกำลังเขียนถึงตัวเอง” ผมเคยเขียนบทความแล้วลองเอาไปให้ครอบครัวของผม หรือแม้กระทั้งคนที่ผมคิดว่าเขาไม่ชอบหน้าผม ให้เขาได้ลองอ่านบทความของผมดู ซึ่งเขาก็แก้ไขบทความของผมกลับมา พร้อมกับชมเชยว่าเป็นบทความที่ดีมาก แต่หลังจากตีพิมพ์เผยแพร่ พวกเขาก็แค่คลิกเข้ามาแล้วก็จากไปเหมือนกับคนอื่นๆ

อันนี้ดีนะครับ บทความที่เราเขียนเสร็จแล้ว ก่อนอื่นก็ลองเอาให้คนใกล้ตัวอ่านดูก่อน ให้เขาช่วยวิจารณ์และแก้ไข เพราะบางที “สิ่งที่เราเขียนไปนั้น คนอื่นเขาอ่านไม่รู้เรื่อง” ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าเราเขียนไม่ดี หรือใช้คำศัพท์ที่เขาไม่เข้าใจก็ได้

ผมเขียนสิ่งที่ผมอยากเขียน และนั่นแหละคือปัญหา

ผมไม่เคยสนใจเลยว่าผู้อ่านอยากอ่านงานเขียนประเภทใด ไม่เคยค้นหาเลยว่าผู้คนชอบอ่านเรื่องอะไร ไม่เคยสนใจว่ากลุ่มผู้อ่านพวกเขาอายุเท่าไร ไม่เคยสนใจว่าอะไรที่ทำให้พวกเขาชอบ และอะไรที่ทำให้พวกเขารำคาญ ผมแค่เขียนสิ่งที่ตัวเองอยากเขียน โดยคิดว่า “น่าจะมีคนอ่าน” แหละ โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าจริงๆ แล้วมันไม่มี มันมีแค่ผมคนเดียวที่อยากอ่านและพูดถึงเรื่องพวกนี้

ถ้าคุณเขียนบทความเพื่อให้คนอื่นอ่าน เรื่องนี้มันก็สำคัญจริงๆ นั่นแหละ แต่สำหรับผมนะ หลายๆ บทความ ตั้งใจเขียนเอาไว้ให้ตัวเองอ่านเท่านั้นแหละ เป็นเหมือนกับ “บันทึก” อย่างหนึ่ง เพราะบทความของผมส่วนมากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเขียนโค้ดโปรแกรม ซึ่งผมก็ไม่ได้จำได้ทุกอย่างหรอก โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่ได้เขียน หรือทำบ่อยๆ ดังนั้นก็เลยต้องจดบันทึกเอาไว้ เผื่อให้ตัวเองกลับมาดูวิธีทำตอนลืม

ผมเคยเขียนเรื่องราวเชิงบวก เช่น เรื่องราวของคนที่ช่วยเหลือผู้อื่น คนที่ทำงานหนักจนประสบความสำเร็จ คนที่แต่งงานและอยู่กันอย่างมีความสุขตลอดชีวิต หรือผู้คนที่ทำความดีให้กับชุมชน แต่วันหนึ่งทอมสันที่เป็นเพื่อนของผม เขาก็มาหาผมและพูดกับผมว่า “คุณรู้ไหมว่างานเขียนของคุณน่าเบื่อ?” ไม่มีใครอยากอ่านเรื่องราวดีๆ ที่เป็นเรื่องราวเชิงบวกหรอก มากกว่า 90% ของข่าวสาร หรือเรื่องราวและบทความในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือโทรทัศน์ หรือวิทยุ ล้วนแต่เป็นไปในเชิงลบ

ผู้คนไม่ต้องการอ่านวันใครเกิดวันนี้ แต่เขาอยากอ่านเรื่องเกี่ยวกับคนดังที่เพิ่งเสียชีวิตวันนี้

ผู้คนไม่ต้องการอ่านว่าใครกำลังจะแต่งงาน แต่พวกเขาต้องการอ่านเกี่ยวกับคนที่หย่าร้าง และใครนอกใจกับใคร

อ่านแล้วก็ต้องยิ้มแห้งๆ แล้วหัวเราะ ผู้คนทั่วโลกไม่ว่าจะชนชาติไหน ก็ชอบอ่านแต่เรื่องพวกนี้กันจริงๆ นั่นแหละ ทั้งๆ ที่ทุกคนอยากมีความสุขในชีวิต แต่กลับชอบอ่านเรื่องราวที่เป็นด้านลบ คือถ้าคุณต้องการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข คุณก็ต้องหยุดอ่าน หรือรับรู้เรื่องราวด้านลบต่างๆ และไม่ต้องไปสนใจมัน แล้วชีวิตของคุณจะมีความสุขขึ้น

ทอมสันพูดต่อว่า… “ผู้คนต้องการที่จะหัวเราะ ร้องไห้ ยิ้ม กรีดร้อง หรือหวาดกลัว เมื่อพวกเขาอ่านบทความ ดังนั้นคุณควรพยายามใส่อารมณ์ทั้งหมดนั้นลงไปในงานเขียนของคุณ แล้วก็อย่าลืมใส่ประสาทสัมผัสทั้งห้าเข้าไปด้วย (ไม่งั้นคนอ่านเขาจะรับรู้อารมณ์ในงานเขียนของคุณได้ไง)

คำพูดนี้ฟังดูเหมือนง่ายนะครับ แต่ลึกซึ้งมาก การใส่อารมณ์ลงไปในงานเขียนนั้นไม่ได้ยากเท่าไร แต่การเขียนยังไงให้ผู้อ่านรับรู้อารมร์นั้นได้ นั่นคือสิ่งที่ยาก และการใส่ประสาทสัมผัสลงไปในงานเขียน ก็น่าจะหมายถึงการเขียนแบบนี้ วิธีการเขียนแบบนี้ต้องไปอ่านจากนิยายออนไลน์ครับ โดยเฉพาะนิยายจีน นักเขียนเขาเก่งเรื่องแบบนี้

และก่อนที่คุณจะเขียนเรื่องอะไรก็ตาม คุณต้องตอบคำถามพวกนี้ให้ได้ก่อน

  • คุณต้องการอ่านเรื่องราวของใคร (มองในมุมของผู้อ่าน)
  • ผู้อ่านของฉันเป็นกลุ่มอายุใด
  • พวกเขาอยู่ที่ไหน
  • พวกเขาอ่านเมื่อไร
  • พวกเขาอ่านจากที่ไหน อ่านออนไลน์ อ่านจากนิตยสาร หรืออ่านจากโทรศัพท์มือถือ
  • อะไรที่ทำให้พวกเขากลัวบ้าง
  • อะไรทำให้พวกเขาหัวเราะ
  • พวกเรารักและเกลียดอะไร

เมื่อเลือกกลุ่มผู้อ่านได้แล้ว ให้คุณเขียนบทความหรือเรื่องราวสำหรับพวกเขาเท่านั้นพอ (ไม่ต้องไปสนใจกลุ่มอื่น) แล้วก็อย่าลืมว่า “ผู้คนชอบฟังวิธีแก้ปัญหา มากกว่ารับฟังปัญหา”

ตรงนี้แหละครับคือหัวใจสำคัญของบทความนี้ที่ผมอยากบันทึกเอาไว้ และอยากแชร์ให้ทุกคนได้อ่านด้วย

ส่วนหลังจากนี้ในบทความต้นฉบับจะกล่าวถึงผลที่เปลี่ยนไปหลังจากที่เขาได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเขียนครับ ซึ่งผมจะขอสรุปมาให้เลยละกัน

หลังจากที่เขาเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นอายุระหว่าง 18–22 ปี เขาก็เริ่มค้นคว้าหาข้อมูลของคนกลุ่มนี้ แล้วเริ่มงานเขียนใหม่เขา จากปกติเขาใช้เวลาเขียนประมาณ 1–2 ชั่วโมง แต่งานเขียนชิ้นใหม่ของเขานี้ใช้เวลามากกว่า 1 วัน เมื่อเขาเขียนเสร็จ เขาก็ลองเอาไปให้เพื่อนของเขาที่ชื่อทอมสันได้อ่านดู และทอมสันก็บอกกับเขาว่า สำนักพิมพ์สนใจงานเขียนของเขา และงานเขียนของเขาจะได้ตีพิมพ์

เมื่องานเขียนของเขาได้ตีพิมพ์ ก็ได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างมาก

จบแล้วครับสำหรับบทความนี้ เนื้อหายาวไปไหม? ผมก็ว่าไม่เท่าไรนะ อ่านเพลินดี รู้สึกว่าจบเร็วเกินไปหน่อยด้วยซ้ำ หลังจากนี้เวลาเขียนบทความ ผมคงต้องเข้ามาเช็คลิสต์บ่อยๆ แหละว่าบทความของผมมีครบตามรายการที่เขาบอกรึเปล่า

--

--

No responses yet