3D Printer หยุดทำงาน อยากจะปริ้นต่อจากที่ค้างเอาไว้ ทำไงดี

Kritthanit Malathong
3 min readDec 27, 2020

--

ผมคิดว่าทุกคนที่เล่นเครื่องพิมพ์ 3 มิติ หรือ 3D Printer จะต้องเคยเจอปัญหานี้แน่นอน แล้วถ้าเราอยากจะพิมพ์ต่อหลังจากที่พิมพ์ค้างเอาไว้ละ จะทำยังไง มาดูในบทความนี้กันได้เลยครับ

เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (รุ่นที่ผมใช้)

สาเหตุที่เครื่องพิมพ์ 3 มิติ หยุดทำงาน

เหตุไม่คาดฝันต่างๆ ที่จะทำให้เครื่องพิมพ์ของเราหยุดทำงานกลางคันนั้นมีเยอะมากเลยครับ ยกตัวอย่างเช่น

  1. ไฟดับ ไม่ว่าจะเป็นไฟดับจากฝนตก หรือคนเดินเตะปลั๊ก หรือแมววิ่งชนปลั๊ก
  2. หัวฉีดตัน พิมพ์ไม่ออก
  3. เส้นพลาสติก (filament) หมด
  4. ผู้ใช้งานตั้งใจหยุดเอง ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น อยากจะพิมพ์ด้วยเส้นพลาสติกหลายๆ สี

และอื่นๆ อีกมากมายหลายเหตุผล แต่ไม่ว่าคุณจะเจอปัญหาอะไร วิธีการที่ผมจะอธิบายให้ฟังในบทความนี้ สามารถนำไปแก้ไขได้ทุกปัญหาแน่นอนครับ

เริ่มต้นอย่างไร

ถ้าสรุปเป็นขั้นตอน ก็จะได้คร่าวๆ ประมาณนี้ครับ

  1. เตรียมเครื่องพิมพ์ให้พร้อมใช้งาน
  2. หาตำแหน่งสุดท้ายที่พิมพ์ค้างเอาไว้
  3. ค้นหาและแก้ไข G-Code
  4. ปรับตำแหน่งหัวฉีดด้วยวิธี Manual
  5. เริ่มต้นพิมพ์ต่อ

1. เตรียมเครื่องพิมพ์ให้พร้อมใช้งาน

เช่น ถ้าเส้นพลาสติกหมด ก็เปลี่ยนเส้นใหม่ให้เรียบร้อย ถ้าหัวฉีดตัน ก็ทำความสะดอาดให้เรียบร้อย ซึ่งผมจะไม่ลงรายละเอียดในการแก้ปัญหาตรงส่วนนี้นะครับ เพราะปัญหามีเยอะมาก และแต่ละปัญหาก็มีวิธีแก้แตกต่างกันไป

2. หาตำแหน่งสุดท้ายที่พิมพ์ค้างเอาไว้

วิธีการหาตำแหน่งสุดท้าย ทำได้หลายวิธีนะครับ อย่างเช่น ถ้าเครื่องพิมพ์หยุดทำงานเพราะไฟดับ คุณสามารถดูเลเยอร์ที่พิมพ์ล่าสุดได้ใน log file หรือถ้าผู้ใช้งานกดหยุดเอง ก็ดูเลเยอร์ล่าสุดได้จาก log file เช่นเดียวกัน

ตัวอย่าง log file ของโปรแกรม Repetier-Host

แต่ในบางเคสเราก็ไม่สามารถดูได้จาก log file เช่น หัวฉีดตัน เราจะไม่เห็นว่าเลเยอร์ที่มันพิมพ์ได้ล่าสุดคือเลเยอร์ไหน เพราะเครื่องพิมพ์ยังคงทำงานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

ดังนั้นวิธีที่ใช้งานได้แน่นอนที่สุดเลยก็คือ “ดูจากชิ้นงานจริง”

2.1 ดูแบบไม่ละเอียด

เคสที่ 1 โปรแกรมพิมพ์ยังไม่ได้ถูกปิด
แบบนี้จะง่ายครับ เพราะว่าตำแหน่งชิ้นงานยังไม่ถูกเคลื่อนย้าย ค่าพิกัด (X, Y) ก็จะคงเดิม เราก็หาแค่ความสูงของชิ้นงาน โดยใช้ไม้บรรทัดวัดเอาก็พอ

เคสที่ 2 ปิดโปรแกรมไปแล้ว
ให้เปิดโปรแกรมแล้วเพิ่มชิ้นงานเข้ามาใหม่ โดยปกติโปรแกรมจะจัดวางชิ้นงานให้อยู่ตรงกลางพื้นที่พิมพ์อยู่แล้ว ถ้าหากก่อนหน้านี้คุณไม่ได้เคลื่อนย้ายชิ้นงาน ก็ใช้ตำแหน่งอัตโนมัตินี้ได้เลย แต่ถ้าคุณปรับชิ้นงาน เช่น เลื่อนซ้ายขวา หรือหมุน ก็ต้องหาทางปรับให้เหมือนเดิม

2.2 ดูแบบละเอียด

เมื่อดูแบบไม่ละเอียดเสร็จแล้ว ให้มาดูแบบละเอียดต่อครับ โดยมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ปรับตำแหน่งหัวฉีดให้ไปอยู่ที่ตำแหน่ง Home

ขั้นตอนที่ 2 ปรับตำแหน่งหัวฉีดให้สูงเท่าชิ้นงาน
ให้ไปที่เมนู Manual Control ดังรูป แล้วพิมพ์คำสั่งลงในช่อง G-Code ดังนี้

ส่วน Manual Control ของโปรแกรม Repetier-Host

ถ้าหากเราวัดความสูงของชิ้นงานได้ 3 ซม. (30 มิลลิเมตร) ให้ลองปรับไปที่ความสูง 35 มล. ดูก่อน โดยใช้คำสั่งดังนี้

G0 Z35.00

(หลังจาก Gzeros ให้วรรค 1 ครั้งก่อนพิมพ์ตัว Z35.00)

จากนั้นกดปุ่ม send หรือ enter ก็ได้ จากนั้นค่อยๆ เลื่อนหัวฉีดมาตรงตำแหน่งชิ้นงาน เพื่อดูว่าความสูงเท่ากันกับชิ้นงานแล้วหรือยัง โดยใช้คำสั่งดังนี้

G0 X10.00

คือให้เลื่อนไปตามแกน X 10 มิลลิเมตร

G0 Y10.00

คือให้เลื่อนไปตามแกน Y 10 มิลลิเมตร

หรือจะเลื่อน X-Y พร้อมกันก็ได้ เช่น

G0 X10.00 Y10.00

ถ้าอยากเลื่อนแค่ 5 มิลลิเมตร ก็แค่เปลี่ยนตัวเลขดังนี้

G0 X5.00 Y5.00

ให้เราปรับค่า แกน X แกน Y จนหัวฉีดมาอยู่เหนือชิ้นงาน (ย้ำนะครับว่าค่า X,Y พวกนี้เราปรับเพื่อให้สะดวกในการเช็คความสูงแกน Z เฉยๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่มุมใดมุมหนึ่งของชิ้นงาน แต่ปรับไปส่วนไหนก็ได้ ให้หัวฉีดอยู่เหนือชิ้นงานก็พอ)

เมื่อหัวฉีดอยู่เหนือชิ้นงานแล้ว ก็ให้พยายามปรับค่าให้หัวฉีดอยู่สูงจากชิ้นงานประมาณ 0.5 มิลลิเมตร (ประมาณความหนาของกระดาษ A4) ทดสอบโดยใช้กระดาษ A4 สอดดู ถ้าเลื่อนกระดาษ A4 แล้วรู้สึกกระดาษติดหัวฉีดเล็กน้อย ก็ถือว่าใช้ได้

เมื่อได้ความสูงที่พอดีแล้ว ให้จำไว้ครับ ว่าค่า Z ที่ได้เป็นเท่าใด โดยดูจากตรงนี้

จากนั้นไปที่แท็บ Print Preview แล้วกดปุ่ม Edit G-Code

3. ค้นหาและแก้ไข G-Code

ในหน้า Edit G-Code ให้ค้นหาค่า Z ที่เราวัดได้

เมื่อพบค่า Z ที่ต้องการแล้ว ให้ลบโค้ดก่อนหน้าทิ้งทั้งหมด เช่น ถ้าเจอ Z ที่บรรทัด 100 ก็ให้ลบโค้ด บรรทัดที่ 1–99 ทิ้งให้หมด

โดยปกติค่า Z จะอยู่ในบรรทัดแรกของแต่ละเลเยอร์ ประมาณนี้

;LAYER:159
G0 X76.610 Y164.300 Z32.000
G0 X76.300 Y164.700

จากโค้ดจะเห็นว่าพิกัด X, Y จะอยู่ก่อนหน้า Z ซึ่งหมายความว่า ถ้าหากเรากดรันโค้ดนี้โดยตรง หัวฉีดจะเคลื่อนไปในแกน X และ Y ก่อน แล้วค่อยเลื่อนลำดับแกน Z ซึ่งมันจะทำให้หัวฉีดชนกับตัวชิ้นงานของเรา ดังนั้นให้เราลบค่า Z32.00 ทิ้งไป แล้วเอาไปปรับด้วยมือแทน ก็จะเหลือโค้ดประมาณนี้

;LAYER:159
G0 X76.610 Y164.300
G0 X76.300 Y164.700

แล้วไปที่หน้า Manual Control จากนั้นกดปุ่ม Home X, Y, Z ตามลำดับ เพื่อให้หัวฉีดกลับไปอยู่ที่ตำแหน่ง (0,0,0)

4. ปรับตำแหน่งหัวฉีดด้วยวิธี Manual

จากนั้นปรับค่า Z ด้วยมือ โดยพิมพ์คำสั่งลงไปในช่อง G-Code ตัวอย่างเช่น ค่า Z ที่เราวัดได้คือ 32.00 ก็ให้พิมพ์คำสั่งดังนี้

G0 Z32.00

ตอนนี้หัวฉีดของเครื่องพิมพ์ก็จะอยู่ที่ (0, 0, 32.00)

5. เริ่มต้นพิมพ์ต่อ

ขั้นตอนต่อไปนี้สำคัญมาก ถ้าทำผิดจะทำให้หัวฉีดตัน แล้วต้องไปเริ่มแก้ปัญหาใหม่ตั้งแต่ตั้น ดังนั้นโปรดอ่านและทำตามอย่างระมัดระวัง

  1. กด Heat Bed กับ Extruder (ฐานกับหัวฉีด) แล้วรอจนได้อุณหภูมิที่พร้อมทำงาน
  2. เช็คตำแหน่งหัวฉีดให้ในหน้า Manual Control ต้องเป็น (0, 0, 32.00) หรือค่า Z ที่เราวัดได้
  3. กลับไปที่หน้า G-Code Editor แล้วเช็คดูว่าเราลบค่า Z ในบรรทัดแรกออกไปเรียบร้อยแล้ว
  4. เมื่ออุณหภูมิของหัวฉีดได้ที่แล้ว ให้กดปุ่ม Print ในแท็บ Print Preview ได้เลย
  5. ถ้าเครื่องพิมพ์เริ่มทำงานต่อได้ถูกต้องก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

แต่ถ้าหากยังเจอปัญหาเครื่องพิมพ์ไม่ตรง เนื่องจากตำแหน่ง (X,Y) คลาดเคลื่อน ให้กดหยุดการทำงานของเครื่องพิมพ์ แล้วดำเนินการตำขั้นตอนดังนี้

  1. กดหยุด Heat Bed กับ Extruder
  2. กดปุ่ม Home X, Y และ Z ตามลำดับ
  3. พิมพ์คำสั่งในช่อง G-Code ในหน้า Manual Control ดังนี้ แล้ว enter
    G0 Z32.00
  4. ไปที่หน้า G-Code Editor แล้ว cut เอาโค้ดบรรทัดแรก ของ layer มา ซึ่งในตัวอย่างนี้คือ
    G0 X76.610 Y164.300
    พิมพ์ลงไปในช่อง G-Code แล้ว enter
  5. สังเกตุดูว่าหัวฉีดเลื่อนมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ (โดยปกติจะตรงกับขอบชิ้นงาน ด้านใดด้านหนึ่ง) ถ้าไม่ตรง ให้ไปกดเมนูที่หน้าจอเครื่องพิมพ์ แล้วเลือกเมนูปรับตำแหน่งหัวฉีด จากนั้นกดปรับหัวฉีดให้ตรง (ตรงส่วนนี้สำคัญ เพราะในโปรแกรมจะไม่รู้ว่าเราปรับตำแหน่งหัวฉีดที่ตัวเครื่อง ดังนั้นโปรแกรมจะเข้าใจว่าหัวฉีดยังอยู่ตำแหน่งเดิม)
  6. เมื่อปรับได้ตำแหน่งแล้ว กด Heat Bed กับ Extruder แล้วรอจนพร้อมทำงาน
  7. เมื่ออุณหภูมิพร้อมทำงานแล้วกด Print ในหน้า Print Preview ได้เลย
  8. สังเกตุดูว่าหัวฉีดเริ่มพิมพ์ต่อในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้ายังไม่ถูกต้องให้เริ่มทำจากข้อ 1 ใหม่อีกครั้ง แล้วในข้อ 5 ให้ปรับตำแหน่งที่เกินหรือขาดเพิ่มเข้าไปอีก
  • หมายเหตุ ห้ามกดพิมพ์ก่อนอุ่นหัวฉีด ไม่เช่นนั้นเครื่องพิมพ์จะเริ่มทำงานโดยที่หัวฉีดยังไม่พร้อม แล้วจะทำให้หัวฉีดตัน ต้องรื้อหัวฉีดออกมาทำความซะอาดใหม่ทั้งหมด

--

--

No responses yet